ทั่วไป

ร้านอาหารรถเข็น ในญี่ปุ่น หายไปไหน!

FOOD: อาหารรถเข็นในญี่ปุ่นหายไปไหน?
.
ตอนเด็กที่โตมาในช่วงทศวรรษ 1990-2000 หลายๆ คนที่อ่านการ์ตูนญี่ปุ่น คงมีความทรงจำที่เกี่ยวกับชีวิตของเด็กมัธยมในญี่ปุ่นที่เป็นตัวละครหลักในเรื่อง ส่วนหนึ่งของชีวิตตัวละครพวกนี้ที่จะมีในแทบทุกเรื่องก็คือการที่ตกกลางคืนดึกๆ ไม่ว่าจะทำอะไรเสร็จ (ตั้งแต่แข่งกีฬายันต่อยตี) พวกตัวละครก็จะชอบมาพูดคุยสังสรรค์กันที่ ‘ร้านประจำ’ ไม่ว่าร้านนั้นจะเป็นรถเข็นขายโอเด้ง หรือบะหมี่รถเข็น และบางทีตัวละครเจ้าของของร้านก็จะมีบทบาทในเรื่องด้วย
.
พอโตขึ้นมาในยุคที่สายการบินโลว์คอสต์เฟื่องฟู และการเข้าญี่ปุ่นไม่ต้องทำวีซ่า หลายๆ คนก็คงมีโอกาสไปเยือนกรุงโตเกียว และบางคนก็อาจพยายามหาร้านแบบในการ์ตูนที่เคยอ่านดู ผลปรากฏว่าเดินยังไงก็จะไม่พบพวกร้านรถเข็นแบบที่เห็นในการ์ตูนเลยแม้แต่ร้านเดียว
.
เอ… มันหายไปไหนหว่า?
.
จริงๆ ญี่ปุ่นมีบันทึกว่า มีอาหารข้างถนนมาเป็นพันปีแล้ว แต่อาหารข้างถนนมันมาเริ่มบูมตอนที่เอโดะกลายมาเป็นศูนย์กลางทางการเมืองและการค้าของญี่ปุ่นราวๆ 400 ปีก่อน ซึ่งสมัยนั้นหลักๆ แล้วอาหารรถเข็นจะขายโซบะเป็นหลัก
.
ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลังจากญี่ปุ่นค่อยๆ เปิดประเทศและพัฒนาเป็นประเทศอุตสาหกรรมราวๆ กลางศตวรรษที่ 19 หลังยุคที่เรียกว่า ‘ปฏิรูปเมจิ’ ซึ่งผลก็ทำให้มีทั้งชาวนาจากชนบทและแรงงานอพยพจากต่างชาติเดินทางเข้ามาทำมาหากินตามเมืองใหญ่ๆ ในญี่ปุ่น และยุคนี้เองที่อาหารรถเข็นเริ่มเกิดขึ้นมามากมาย และผู้ประกอบการอาหารรถเข็นจำนวนมากก็คือทั้งชาวนาจากชนบทและชาวต่างชาติเหล่านี้ และบะหมี่ของชาวจีนที่ต่อมาคนญี่ปุ่นรับเอามาปรับปรุงเป็น ‘ราเมน’ ของตัวเองก็ในยุคนี้แหละ ซึ่งยุคนั้นคนญี่ปุ่นทั่วไปก็ยังรังเกียจอาหารชนิดนี้แบบที่ใช้คำเรียกที่น่าจะแปลไทยได้ว่า ‘โซบะเจ๊ก’ (Shina Soba – คำว่า Shina เป็นคำที่คนญี่ปุ่นใช้เรียกคนจีนแบบเหยียด)
.
ญี่ปุ่นในยุคนั้นก็เหมือนหลายๆ ประเทศที่ไม่มีการควบคุมอาหารข้างถนน อาหารรถเข็นอะไรทั้งนั้น เพราะยิ่งเมืองขยายตัว แรงงานในภาคอุตสาหกรรมก็เยอะขึ้นๆ แล้วคนเหล่านี้ก็ต้องการอาหารที่มีราคาถูก และอาหารรถเข็นก็เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์พวกเขาได้เป็นอย่างดี
.
ญี่ปุ่นขยายตัวทางเศรษฐกิจไปเรื่อยจนอหังการเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วก็แพ้สงครามไปอย่างที่เรารู้กัน และก็แน่นอนอีกว่า หลังสงครามโลกเศรษฐกิจย่อมตกต่ำ พอเศรษฐกิจตกต่ำคนก็ยิ่งต้องการอาหารราคาถูกเพื่อที่จะได้อิ่มท้องแบบสบายกระเป๋า และในยุคหลังสงครามจบหมาดๆ นี้อาหารข้างทางยอดฮิตก็คือเกี๊ยวซ่า
.
พอญี่ปุ่นกลับมาฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ ที่นี้ก็พัฒนายาวเลย แต่คนญี่ปุ่นก็เคยชินกับอาหารข้างทาง อาหารรถเข็นกันแล้ว มนุษย์เงินเดือนญี่ปุ่นยุคนั้นก็จะมีกิจวัตรมากินอาหารราคาถูกๆ กันไม่ว่าจะเป็นข้างทางหรือตามร้าน ซึ่งอาหารราคาถูกยอดฮิตของมนุษย์เงินเดือนก็คือข้าวราดแกงกะหรี่กับราเมน นอกจากนี้ร้านเหล้าริมทางยามดึกที่เหล่ามนุษย์เงินเดือนชอบไปนั่งกินเหล้า กินเบียร์ กินสาเกกันก็น่าจะได้แก่พวกร้านโอเด้งรถเข็น
.
อันนี้ต้องเล่านิดนึงว่า สำหรับมนุษย์เงินเดือนญี่ปุ่นสมัยก่อนพวกร้านรถเข็นนี่เป็นอะไรที่มันดูเท่มาก เพราะคนทำคือเจ้าของกิจการของตัวเองซึ่งต่างจากโลกของธุรกิจญี่ปุ่นที่มีแต่บริษัทใหญ่ๆ บริษัทเล็กๆ ยากจะเกิดได้ หรือคนมีกิจการเองและ ‘เป็นนายตัวเอง’ มันมีน้อย ดังนั้นพนักงานเงินเดือนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยในยุคราวๆ ทศวรรษ 1970 ก็ถึงกับลาออกจากงานมาเปิดร้านราเมนรถเข็นของตนกันเลย ซึ่งถ้าให้มองเทียบกับสมัยนี้ ก็น่าจะคล้ายๆ กับกระแสเปิดร้านกาแฟในบ้านเรา
.
เล่ามาถึงตรงนี้ก็คงงงกันว่าเอ… ร้านรถเข็นญี่ปุ่นมันก็เป็นที่นิยมดีนี่หว่า แล้วมันหายไปไหนล่ะ?
.
ใจเย็นก่อน ใกล้จะถึงละ
.
เหตุการณ์แรกที่กระทบกระเทือนแวดวงอาหารรถเข็นมากๆ คือตอนที่ญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในปี 1964 ตอนนั้นทางการออกระเบียบด้านความสะอาดออกมา ก็เลยทำให้ร้านอาหารรถเข็นที่ไม่ได้มาตรฐานความสะอาดจำนวนมากต้องปิดตัวลงไป และพวกที่เหลือรอดมาก็ต้องปรับให้ได้ตามมาตรฐานของทางการซึ่งก็ค่อยๆ ปราบไปเรื่อยๆ ซึ่งระเบียบของแต่ละเมืองก็จะแตกต่างกันไป
.
พอมาถึงยุคทศวรรษ 1980-1990 ก็น่าจะเรียกได้ว่าอาหารรถเข็นในเมืองใหญ่ๆ นี่แทบจะไม่มีเหลือรอดแล้ว และน่าจะเรียกได้ว่าเมืองเดียวของญี่ปุ่นที่ยังมีอาหารรถเข็นอยู่ยืนยงก็ได้แก่ เมืองฟุกุโอกะ ที่บรรดาพ่อค้าแม่ค้าอาหารรถเข็นได้รวมตัวกันเพื่อต่อรองกับทางการเลยอยู่มาได้ยาวนาน อย่างไรก็ดีทุกวันนี้อาหารรถเข็นของฟุกุโอกะก็ค่อยๆ ลดน้อยลงเรื่อยๆ เช่นกัน เนื่องจากมีกฎหมายในปี 1994 ออกมากำหนดว่า ผู้ที่จะสืบทอดใบอนุญาตอาหารรถเข็นต่อได้จะต้องเป็นทายาทโดยตรงเท่านั้น และเด็กรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เห็นว่าการประกอบกิจการร้านอาหารรถเข็นเป็นสิ่งที่ดูเท่อีกแล้วในยุคนี้ ดังนั้นตอนนี้อาหารรถเข็นในฟุกุโอกะส่วนใหญ่ก็จะมีเจ้าของร้านเป็นคนวัย 50 ขึ้นไปทั้งนั้น และร้านเหล่านี้ในที่มั่นสุดท้ายของอาหารรถเข็นในญี่ปุ่นก็รอวันที่จะปิดตัวลงในที่สุด
.
อาหารรถเข็นดูจะกำลังหายไปจากญี่ปุ่นในที่สุด แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าสำหรับคนรุ่นหนึ่งของญี่ปุ่นที่เติบโตมาในช่วงทศวรรษ 1960-1970 อาหารรถเข็นก็เป็นสิ่งที่ยังเห็นได้ดาษดื่น และเป็นสิ่งที่เท่น่าดู แล้วก็คงด้วยปัจจัยนี้แหละ ที่พวกอาหารรถแข็นมักชอบไปโผล่ในการ์ตูน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงมันไม่มีเหลือแล้วนอกจากความทรงจำในวัยเด็กของเหล่านักเขียนการ์ตูน ที่โตมาในยุคอาหารรถเข็นยังรุ่งเรือง
.
อ้างอิง: The Wall Street Journal. Saving Fukuoka’s Street Food. https://on.wsj.com/3IZGsXC
The Japan Times. Hakata ‘yatai’ days numbered as owners age, tape gets redder. https://bit.ly/3RUYDSs
.

BrandThink

CreateaBetterTomorrow

ทิ้งคำตอบไว้

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.